ผู้นำบราซิล ‘ประณาม’ รัสเซียบุกยูเครน ชูแผนสันติภาพดึง ‘ชาติที่เป็นกลาง’ ร่วมไกล่เกลี่ยยุติสงคราม

ประธานาธิบดี ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล ออกมาประณามรัสเซียว่าละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน พร้อมเรียกร้องอีกครั้งวานนี้ (18 เม.ย.) ให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงคราม อันเป็นข้อเสนอซึ่งฝ่ายยูเครนเมินหน้าหนี

ระหว่างรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับประธานาธิบดี เคลาส์ โยฮันนิส แห่งโรมาเนีย ผู้นำบราซิลเสนอให้มีการรวมกลุ่มประเทศที่เป็นกลางมาทำหน้าที่ “โบรกเกอร์” ไกล่เกลี่ยให้เกิดสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ถ้อยแถลงล่าสุดของ ลูลา มีขึ้น หลังจากที่เขาเผชิญกระแสตอบโต้อย่างรุนแรงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ จากการออกมาวิจารณ์ชาติตะวันตกว่ากำลัง “ยื้อ” สงครามด้วยการส่งอาวุธป้อนให้ยูเครนอย่างไม่หยุดหย่อน

โฆษกทำเนียบขาววิจารณ์ ลูลา ว่า “เอาแต่พูดตามคำโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียและจีน โดยไม่ดูสภาพความเป็นจริง” และล่าสุดเมื่อวานนี้ (18) ก็ยังตำหนิข้อเสนอของผู้นำบราซิลว่า “ไม่เป็นกลาง”

แหล่งข่าวในวอชิงตันเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้แจ้งเตือนเป็นการส่วนตัวไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายบราซิลว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน “ไม่พอใจ” ที่ ลูลา ออกมาวิจารณ์การติดอาวุธให้ยูเครน

ทำเนียบขาวยอมรับในวันอังคาร (18) ว่า เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของ ไบเดน ได้มีการพูดคุยกับ เซลโซ อาโมริม (Celso Amorim) หัวหน้าคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีบราซิล “เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทั้งในเรื่องทวิภาคีและระดับโลก รวมไปถึงเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วย”


ทางด้าน อาโมริม ก็ออกมาตอบโต้คำวิจารณ์ของสหรัฐฯ ว่า “ไร้สาระ” และย้ำว่าบราซิลไม่ได้มีจุดยืนเหมือนกับรัสเซีย

“บราซิลสนับสนุนการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน แต่ตราบใดที่ไม่มีการเจรจากันเลย สันติภาพที่แท้จริงระหว่างชาวยูเครนและชาวรัสเซียก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ มันจำเป็นที่จะต้องมีการประนีประนอมกัน” เขาให้สัมภาษณ์กับ Globo TV

เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ได้เดินทางไปเยี่ยมคารวะ ลูลา ที่กรุงบราซิเลียเมื่อวันจันทร์ (17) พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณความพยายามของผู้นำบราซิลที่จะส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ

ข้อเสนอของ ลูลา นั้นตั้งอยู่บนจุดยืนพื้นฐานดั้งเดิมของบราซิล ซึ่งยึดนโยบายไม่แทรกแซง (non-intervention) และเป็นกลาง (neutrality) โดยเขาเสนอให้กลุ่มประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามเข้ามาช่วยเป็นคนกลางโน้มน้าวให้เกิดการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครน

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยูเครนวิจารณ์ข้อเสนอของ ลูลา ว่า “ปฏิบัติต่อเหยื่อและผู้รุกรานไม่ต่างกัน” และยังเอ่ยเชิญผู้นำบราซิลให้ไปเยือนยูเครนสักครั้ง เพื่อจะได้เห็นกับตาว่าสิ่งที่รัสเซียกระทำนั้นสร้างความเสียหายต่อยูเครนมากขนาดไหน

ด้านสหภาพยุโรป (อียู) ก็ออกมาปฏิเสธแนวคิดของ ลูลา ที่โทษทั้งยูเครนและรัสเซียว่ามีส่วนผิดกันทั้งคู่ โดน ปีเตอร์ สตาโน โฆษกฝ่ายกิจการต่างประเทศของอียู ยืนยันว่าความช่วยเหลือต่างๆ ที่ตะวันตกมอบให้ยูเครนนั้นก็เพื่อสนับสนุน “การป้องกันตนเองโดยชอบธรรม”

ลูลา เสนอให้รัสเซียยอมคืนดินแดนทั้งหมดที่ยึดไปจากยูเครนตลอดช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็แนะนำกลายๆ ให้ยูเครนยอมสละ “คาบสมุทรไครเมีย” ซึ่งถูกกองกำลังรัสเซียผนวกยึดครองไปตั้งแต่ปี 2014

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ออกมาปฏิเสธข้อเสนอนี้ทันที และเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกช่วยสนับสนุนแผนสันติภาพ 10 ประการของเขาเอง ซึ่งกำหนดให้รัสเซียต้องถอนทหาร ยุติความรุนแรงทั้งหมด รวมถึงคืนดินแดนทุกตารางนิ้วให้ยูเครนด้วย

ที่มา : รอยเตอร์

ติดตามเรื่องราวรอบโลกได้ที่ kashwerwaterwell.com